ประวัติศาสนาอิสลาม

Standard

 

ประวัติความเป็นมาของศาสนาอิสลาม

   ก่อนหน้า ศาสดามูฮำหมัด จะได้ประกาศศาสนา ชาวอาหรับในดินแดนแถบคาบสมุทรอาหรับ มีความนับถือในเทพเจ้าต่างๆ นับถือดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวต่างๆ แต่หลังจากการกำเนิดของศาสนาอิสลามแล้ว ความนับถือในเรื่องเหล่านี้ได้หมดสิ้นไป โดยหันมาเคารพนับถือ “พระอัลเลาะห์” เพียงพระองค์เดียว ศาสดามูฮำหมัด ถือกำเนิดขึ้นมาในปี พ.ศ. 1113 (ค.ศ.570) ที่เมืองมักกะห์ (เมกกะ) ซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศซาอุดิอาระเบีย มีบิดาชื่อ อับดุลเลาะห์ และมารดาชื่อ อามีนะฮ์ ท่านเป็นกำพร้าพ่อแม่มาตั้งแต่ยังเยาว์ และอยู่ในความดูแลของลุง เมื่ออายุได้ 25 ปี ได้สมรสกับ นางคอดียะห์ เศรษฐีหม้ายชาวเมืองมักกะห์ มีบุตรด้วยกัน 6 คน บุตรชาย 2 คน ได้เสียชีวิตตั้งแต่เยาว์วัย โดยเหลือแต่บุตรหญิง 4 คน เมื่ออายุได้ 40 ปี ได้เริ่มออกประกาศศาสนาและพบกับอุปสรรคมากมาย จนต้องลี้ภัยไปอยู่เมืองมาดินะฮ์ ในปี ค.ศ. 622 ซึ่งต่อมาถือเป็นปีเริ่มศักราชใหม่ ของอิสลาม ในอีก 8 ปีต่อมา ท่านได้รวบรวมผู้คนกลับไปอีกเมืองมักกะห์ ศาสนาอิสลามจึงได้เริ่มแพร่หลาย ออกไปสู่ที่อื่นๆ ตั้งแต่บัดนั้น ศาสดามูฮำหมัดสิ้นชีวิตในปี พ.ศ. 1175 ณ เมืองมาดินะฮ์
วิวัฒนาการของนิกายในศาสนาอิสลาม
            ภายหลังจากการสิ้นชีวิตของศาสดามูฮำหมัด ก็ได้เกิดปัญหาการจัดองค์กรของมุสลิมขึ้น เพราะท่านศาสดามิได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้ปกครอง (กาหลิบ) สืบต่อมา จึงเกิดความแตกแยกขึ้นระหว่างชาวเมืองมักกะห์ กับชาวเมืองมาดินะฮ์ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ศาสนาอิสลามแยกเป็นหลายนิกาย ดังนี้คือ
            1. นิกายซุนนี่ เป็นนิกายที่ถือว่าตนเองเป็นผู้เคร่งในแนวทางการปฏิบัติตามคัมภีร์อัล-กุระอาน และตามวจนะของศาสดามูฮำหมัด และให้ความเคารพกาหลิบ 4 คนแรกเท่านั้น
            2. นิกายชีอะฮ์ เป็นนิกายที่ถือว่าตนเป็นพรรคพวกของอาลี ผู้เป็นญาติ บุตรเขย และสาวกของท่านศาสดามูฮำหมัด ซึ่งเป็นกาหลิบองค์ที่ 4 ชาวชีอะฮ์จึงไม่ได้ถือว่ากาหลิบองค์อื่นๆ เป็นกาหลิบ อันแท้จริง
หลักคำสอนที่สำคัญของศาสนาอิสลาม คือ
            1. การไม่มีพระเจ้าองค์อื่นนอกจากอัลลอฮ์
            2. การละหมาด (สวดภาวนา) วันละ 5 ครั้ง
            3. การถือศีลอด
            4. การบริจาคทาน หรือ ชะกาด
            5. การประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

ประวัติของศาสนาอิสลาม

Standard

อิสลาม เป็นคำภาษาอาหรับ แปลว่า การสวามิภักดิ์ ซึ่งหมายถึงการสวามิภักดิ์อย่าง บริบูรณ์แด่อัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้า ด้วยการปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ ศาสนา อิสลาม เป็นศาสนามนุษยชาติตลอดกาล ตั้งแต่แรกเริ่มของการกำเนิดของมนุษย์จนถึง ปัจจุบันและอนาคต

บรรดาศาสนทูตในอดีตล้วนแต่ได้รับมอบหมายให้สอนศาสนาอิสลาม แก่มนุษย ชาติ ศาสนทูตท่านสุดท้ายคือมุฮัมมัด บุตรของอับดุลลอหฺ แห่งอารเบีย ได้รับ มอบหมายให้เผยแผ่ สาร์นของอัลลอหฺในช่วงปี ค.ศ. 610 – 632 เฉกเช่นบรรพ ศาสดาในอดีต โดยมี มะลักญิบรีล เป็นสื่อระหว่างอัลลอหฺพระผู้เป็นเจ้าและมุฮัมมัด พระโองการแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่ทะยอยลงมา ในเวลา 23 ปีจันทรคติ ได้รับการรวบรวม ขึ้นเป็นเล่มมีชื่อว่า อัลกุรอาน ซึ่งเป็นธรรมนูญแห่งชีวิต มนุษย์ เพื่อที่จะได้ครองตน บนโลกนี้อย่างถูกต้องก่อนกลับคืนสู่พระผู้เป็นเจ้า

สาร์นแห่งอิสลามที่ถูกส่งมาให้แก่มนุษย์ทั้งมวลมีจุดประสงค์หลัก 3 ประการคือ:

1. เป็นอุดมการณ์ที่สอนมนุษย์ให้ศรัทธาในอัลลอหฺ พระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว ที่สมควรแก่การเคารพบูชาและภักดี ศรัทธาในความยุติธรรมของพระองค์ ศรัทธาในพระโองการแห่งพระองค์ ศรัทธาในวันปรโลก วันซึ่งมนุษย์ฟื้นคืนชีพอีกครั้งเพื่อรับการพิพากษา และรับผลตอบแทนของความดีความชั่วที่ตนได้ปฏิบัติไปในโลกนี้ มั่นใจและไว้วางใจต่อพระองค์ เพราะพระองค์คือที่พึ่งพาของทุกสรรพสิ่ง มนุษย์จะต้องไม่สิ้นหวังในความเมตตาของพระองค์ และพระองค์คือปฐมเหตุแห่งคุณงามความดีทั้งปวง

2. เป็นธรรมนูญสำหรับมนุษย์ เพื่อให้เกิดความสงบสุขในชีวิตส่วนตัว และสังคม เป็นธรรมนูญที่ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าในด้านการปกครอง เศรษฐกิจ หรือนิติศาสตร์ อิสลามสั่งสอนให้มนุษย์อยู่กันด้วยความเป็นมิตร ละเว้นการรบราฆ่าฟัน การทะเลาะเบาะแว้ง การละเมิดและรุกรานสิทธิของผู้อื่น ไม่ลักขโมย ฉ้อฉล หลอกลวง ไม่ผิดประเวณี หรือทำอนาจาร ไม่ดื่มของมึนเมาหรือรับประทานสิ่งที่เป็นโทษต่อร่างกายและจิตใจ ไม่บ่อนทำลายสังคมแม้ว่าในรูปแบบใดก็ตาม

3. เป็นจริยธรรมอันสูงส่งเพื่อการครองตนอย่างมีเกียรติ เน้นความอดกลั้น ความซื่อสัตย์ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเมตตากรุณา ความกตัญญูกตเวที ความสะอาดของกายและใจ ความกล้าหาญ การให้อภัย ความเท่าเทียมและความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ การเคารพสิทธิของผู้อื่น สั่งสอนให้ละเว้นความตระหนี่ถี่เหนียว ความอิจฉาริษยา การติฉินนินทา ความเขลาและความขลาดกลัว การทรยศและอกตัญญู การล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น

knowledge.eduzones.com

ประวัติศาสดาของศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลามไม่ใช่ศาสดาที่วิวัฒนาการมาจากศาสนาอื่น หรือศาสนาที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นอย่างเช่นศาสนาอื่นๆที่มีอยู่ใน โลก อิสลามเป็นศาสนาของพระผู้เป็นเจ้าที่เป็นทางนำในการดำรงชีวิตทุกด้าน แก่มนุษย์ทุกคน ไม่ยกเว้น อายุ เพศ เผ่าพันธ์ หรือฐานันดร

ศรัทธาในบรรดาศาสนทูต มุสลิมเชื่อว่าศรัทธา โลกมนุษย์ในแต่ละยุคที่ผ่านมานับจากยุคแรก คือ อาดัมนั้นต้องมีศาสดาหรือ ศาสนทูต เป็นผู้รับบทบัญญัติของพระเจ้ามาประกาศเพื่อเผยแผ่โองการของพระเจ้า ซึ่งศาสนทูตนั้นมีจำนวนมากมาย ลักษณะคำประกาศของแต่ละศาสดาย่อมผิดแปลกไปตามยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกศาสดาประกาศออกมาเหมือนกัน คือ ความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวกันและห้ามกราบไหว้บูชาวัตถุโดยสิ้นเชิง บรรดาศาสดาที่รับโองการพระเจ้ามาเผยแผ่เท่าที่มีปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานมีทั้งสิ้น 25 ท่าน คือ

1. นบีอาดัม (อ.ล.) 14. นบีอีซา (อ.ล.)

2. นบีอิบรอฮีม (อ.ล.) 15. นบีอินยาส (อ.ล.)

3. นบีอิสฮากร (อ.ล.) 16. นบีอิสมาอีล (อ.ล.)

4. นบียากูฟ (อ.ล.) 17. นบีอัลย่าซะอ์ (อ.ล.)

5. นบีนัวฮ์ (อ.ล.) 18. นบียูนุส (อ.ล.)

6. นบีดาลูด (อ.ล.) 19. นบีลูด (อ.ล.)

7. นบีสุไลมาน (อ.ล.) 20. นบีอิดรีส (อ.ล.)

8. นบีไอยูบ (อ.ล.) 21. นบีฮูด (อ.ล.)

9. นบียูซูบ (อ.ล.) 22. นบีซู่ไอบ (อ.ล.)

10. นบีมูซา (อ.ล.) 23. นบีซอและซ์ (อ.ล.)

11. นบีฮารูน (อ.ล.) 24. นบีซุลกิฟลี่ (อ.ล.)

12. นบีซาการีบา (อ.ล.) 25. นบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) (อ.ล.)

13. นบียาหย่า (อ.ล.)

คุณสมบัติของศาสนทูต1มี 4 ประการคือ

1.ศิดกุน คือ วาจาสัตย์ ไม่พูดเท็จ

2.อะมานะฮ์ คือ ไว้วางใจได้ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำความชั่วฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮ์

3.ตับลิค คือ นำศาสนามาเผยแผ่แก่มนุษย์โดยทั่วถึงไม่ปิดบังแม้แต่น้อย

4.ฟะตอนะฮ์ คือ เฉลียวฉลาด

บรรดาศาสดาทุกท่าน เป็นมนุษย์ธรรมดานี่เอง จึงดำรงชีวิตแบบสามัญชนทั่วไป มีการกินอยู่หลับนอน แต่งงานและประกอบอาชีพ

สาเหตุที่พระเจ้าเลือกคนธรรมดาขึ้นมาเป็นศาสดา ก็เพราะความเป็นศาสดา หมายถึง การเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตามคำสอนของตัวเองที่ได้รับมาจากพระเจ้า

หากศาสดาไม่ใช่คนสามัญชนธรรมดาแบบเดียวกับประชาชนทั่วไป คำสอนก็จะขาดการนำไปปฏิบัติ ซึ่งในที่สุดคำสอนก็จะหมดความหมาย และแน่นอนก็จะไม่มีใครพร้อมที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิตอีกด้วย

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ศาสดาสอนผู้อื่น ท่านก็ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย คำสอนที่ท่านสอนออกไปจึงเป็นกฎหมายที่ท่านต้องปฏิบัติตาม เพราะสิ่งที่ท่านสอนก็คือ บทบัญญัติที่พระเจ้าทรงดำรัสผ่านมาทางท่านนั่นเอง

ศาสนาอิสลามจำแนกพระศาสนทูตหรือผู้แทนของพระอัลเลาะห์หรือผู้รับโองการจากพระเจ้าให้นำบัญญัติของพระองค์มาสั่งสอน ชี้แนะแก่มวลมนุษย์ด้วยกัน ในแต่ละยุคแต่ละสมัยออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ผู้ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีตามบทบัญญัติของพระเจ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ศาสนทูตประเภทนี้เรียกว่า “นบี”

2. ผู้ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีตามบทบัญญัติของพระเจ้าทำการเผยแผ่บทบัญญัตินั้นแก่มวลมนุษย์ชาติทั่วไปด้วย ศาสนทูตประเภทนี้เรียกว่า “ซูล” หรือ “เราะซูล”

ส่วนองค์พระมุฮัมมัด ชาวมุสลิมเชื่อกันว่า พระองค์เป็นทั้งนบีและเราะซูล เพราะพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดีตามบทบัญญัติของพระอัลเลาะห์และทรงเป็นผู้เผยแผ่บทบัญญัตินั้นแก่มวลมนุษยชาติอีกด้วย